พงษ์ชัย อมตานนท์ นวัตกรรมนำ FORTH สู่ A BILLION

จิตวิญญาณแห่งการคิดค้นคืออาวุธลับที่ช่วยให้นักล่านวัตกรรมอย่าง พงษ์ชัย อมตานนท์ สร้าง บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ฝ่าฟันคลื่นความผันผวนของเทคโนโลยีทะยานสู่สถานะบริษัทมหาชนระดับ a billion ภายในไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ด้วยการขับเคลื่อนของผลิตภัณฑ์ล้ำสมัย ฉีกแนวสู่ธุรกิจค้าเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวภายใต้แบรนด์ของบริษัทป้อนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติตระกูลบุญเติม

โรงงานบนเนื้อที่มากกว่า 16,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ ถ.พุทธมณฑลสาย 5 จ.นครปฐม คือฐานทัพหลักที่สร้างสรรค์สารพัดผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีที่ประดิษฐ์และจำหน่ายโดย บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น หรือ FORTH ที่ปัจจุบันทำรายได้ทะลุ 5 พันล้านบาท และก่อตั้งโดยวิศวกรผู้รักการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อย่าง พงษ์ชัย อมตานนท์ วัย 54 ปี ประธานกรรมการบริหาร

ปัจจุบันธุรกิจของ บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่นแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก คือ
1. ธุรกิจอีเอ็มเอส ให้บริการครบวงจรตั้งแต่การเริ่มออกแบบสินค้าร่วมกับลูกค้า ตลอดจนจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ฯลฯ
2.ธุรกิจโทรคมนาคม จัดจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมและชุมสาย ภายใต้เครื่องหมายการค้า FORTH
3.ธุรกิจเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ดำเนินธุรกิจด้านการผลิต จำหน่ายและวางระบบการจราจร ระบบบอกพิกัดผ่านดาวเทียมติดตามยานพาหนะ มิเตอร์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์หลอดไฟ LED ฯลฯ
4.ธุรกิจให้บริการรายย่อย บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ บริการเติมเงินเกมออนไลน์ บริการชำระเงินค่าสาธารณูปโภค บริการชำระเงินค่าบัตรเครดิต ซื้อประกัน ซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ
แจ้งเกิดด้วย PABX
จากพื้นฐานที่เรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พงษ์ชัยเริ่มเปิดกิจการบริการแปลซอฟต์แวร์ ก่อนขยับมาจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กระทั่งปี 2532 จึงตัดสินใจแตกยอดสู่ บริษัท จีเนียส คอมมูนิเคชั่น ซีสเต็ม จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจผลิต ตู้สาขาโทรศัพท์(PABX)

“จุดที่ตัดสินใจทำธุรกิจขายตู้ PABX เพราะตอนนั้นเป็นสินค้าที่มีราคาสูงมาก และด้วยความพร้อมของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่จำหน่ายอยู่แล้วน่าจะสามารถทำ PABX ได้”
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าส่วนใหญ่ยังนิยมใช้แบรนด์สินค้าต่างชาติอยู่ จึงต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อจูงใจให้เกิดการทดลองใช้สินค้าของบริษัท แต่จุดเปลี่ยนที่ส่งให้ PABX ของบริษัทแจ้งเกิดก็ถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของฐานลูกค้าหลักที่เป็นกลุ่มอะพาร์ตเมนต์ คือการพัฒนาระบบตอบรับอัตโนมัติที่เป็นเสียงพูดภาษาไทยและยังสามารถพิมพ์ใบเสร็จแจ้งการใช้งานโทรศัพท์ของผู้พักอาศัยได้ด้วย

“บุญเติม” เพิ่มรายได้
ด้วยโลกเทคโนโลยีที่หมุนเร็วจากการเติบโตของการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้บทบาทของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไม่ได้เป็นพระเอกในการสร้างรายได้ให้แก่ FORTH ดังเช่นในอดีต
“ผมก็มานั่งคิดว่าจะหาเงินจากอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือได้อย่างไร แม้ด้วยเทคโนโลยีของบริษัทอาจจะผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือมาขายได้ แค่ก็คงไม่มีกำลังพอไปแข่งกับผู้เล่นระดับโลกได้ จึงนำไปสู่การทำตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือที่ใช้ชื่อว่า“ตู้บุญเติม”

ดังนั้น ในปี 2551 จึงเกิดธุรกิจใหม่ที่มุ่งให้บริการแก่กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่อยู่ภายใต้การบริหารของ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส หรือ FSMART ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า(Pre-paid) และรับชำระเงินออนไลน์อื่นๆ ที่หลากหลายผ่านเครื่องรับชำระเงินอัจฉริยะ(Intelligent Kiosk) ภายใต้เครื่องหมายการค้า“บุญเติม”
ช่วงแรกบริษัทเคยวางแนวทางว่าจะขายแฟรนไชส์ของบริการตู้บุญเติมแบบขายขาด แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุนของเครือข่ายตัวแทน ทำให้อัตราการขยายตัวของตู้บุญเติมไม่ร้อนแรงดังคาด ตามที่พงษ์ชัยยืนยันว่า“ปีแรกผมติดตั้งได้แค่พันกว่าตู้เอง”
ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นระบบให้บริการผ่านตัวแทนบริการ (Agent) ที่ขณะนี้มีจำนวนกว่า 200 รายทั่วประเทศและผ่านพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partners) ชั้นนำ เช่น ร้านสะดวกซื้อ สถานีบริการน้ำมัน สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นต้น ส่งผลให้เอเจนต์ไม่ต้องมีภาระเรื่องการซื้อตู้บุญเติม แต่มีหน้าที่เพียงการหาสถานที่ติดตั้งตู้และดูแลเรื่องการเก็บเงินแทน ซึ่งหลังจากปรับเปลี่ยนแนวทางธุรกิจแล้วก็ส่งผลให้มีจำนวนตู้บุญเติมติดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นที่เฉลี่ยเกือบ 3,000 ตู้/เดือน
เมื่อลูกค้ารายย่อยได้ทดลองใช้แล้วเกิดความประทับใจ กอปรกับมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินเพิ่มขึ้นด้วย และกลยุทธ์ที่ไปติดตั้งหน้าร้านสะดวกซื้อก็ยิ่งทำให้ผู้คนรู้จักตู้บุญเติม จึงทำให้จากเดิมที่ตัวแทนต้องไปอธิบายและขอเจ้าของสถานที่ให้ติดตั้ง กลายเป็นปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจติดต่อผ่านตัวแทนให้ไปติดตั้งตู้บุญเติมเอง
จากความนิยมของตู้บุญเติม ทางบริษัทจึงไม่หยุดยั้งที่จะคิคค้นบริการเสริมอื่นๆ จนขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “บุญเติม” ถึง 4 ประเภท ได้แก่ตู้เติมเงินออนไลน์ บุญเติม Counter Service ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติและเติมเงิน (Vending Machine & Top-Up) และตู้กดน้ำดื่มสะอาดและเติมเงิน(Water Vending & Top-Up Machine)

พงษ์ชัยย้ำถึงความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ว่า เบื้องหลังที่ผลักดันให้ “บุญเติม” มาไกลขนาดนี้ต้องยกเครดิตให้เทคโนโลยี โดยเฉพาะจากตัวซอฟต์แวร์ระบบที่บริษัทพัฒนาขึ้นเอง ด้วยงบประมาณเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาท แต่สามารถรองรับธุรกรรมที่มีจำนวนเฉลี่ยถึง 2 ล้านรายการ/วัน ที่นับว่าสูสีกับระบบ core banking ของธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีราคาหลายพันล้านบาท
“ทีม R&D กับผมทำงานร่วมกันมานานจนรู้มือ จึงเป็นข้อได้เปรียบของเราที่นอกจากได้ระบบที่ดีแล้วยังใช้ต้นทุนไม่สูงด้วย คู่แข่งจะมาสู้เราก็ลำบาก”
จากความสำเร็จของตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติและเติมเงิน พงษ์ชัยจึงคิดแตกยอดไปสู่การริเริ่มธุรกิจผลิตเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวที่ดำเนินการโดยบริษัทย่อยในเครือ FORTH เพื่อจำหน่ายผ่านช่องทางตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติและเติมเงินที่คาดว่าจะมีจำนวนถึง 20,000 ตู้ภายในไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวเครื่องดื่มและขนมที่เป็นแบรนด์ของบริษัทภายใน 3 ปี
ตู้ชาร์จไฟฟ้าคืออนาคต
ล่าสุดภายใต้ธุรกิจให้บริการลูกค้าย่อยจะมีผลิตภัณฑ์น้องใหม่ คือบริการ สถานีประจุไฟฟ้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) ที่พงษ์ชัยย้ำว่า “จะเป็นอนาคตของบริษัทภายใน 3-5 ปีข้างหน้า” โดยจะมีแนวทางในรูปแบบเดียวกับกลุ่มบุญเติม ซึ่งขยายเครือข่ายจุดให้บริการผ่านเอเจนต์และแบ่งรายได้จากค่าเติมไฟฟ้า
ทั้งนี้สถานีประจุไฟฟ้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่บริษัทวิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น จะรองรับการใช้งานหัวจ่ายตามมาตรฐาน J1772 Type1 (สำหรับรถยนต์จากอเมริกาและญี่ปุ่น) และ 62196-2 Type2 (สำหรับรถยนต์จากยุโรป) ทั้งนี้ การชำระเงินสามารถชำระด้วยเงินสด และอาจเพิ่มช่องการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตได้ในอนาคตเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทยังได้วิจัยเครื่องชาร์จไฟฟ้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถชาร์จไฟในบ้านพักอาศัย โดยการชาร์จไฟด้วยแรงดัน 230 โวลต์ กระแสไม่เกิน 16 แอมป์ ซึ่งสามารถใช้ไฟจากปลั๊กไฟทั่วไปได้ ใช้เวลาในการชาร์จไฟประมาณ 6-8 ชั่วโมง ใช้ได้กับรถยนต์ Plug-in Hybrid ได้ทุกค่ายทุกยี่ห้อ
“ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีปริมาณการใช้รถพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”

ผลิตภัณฑ์กลุ่มบุญเติมมีการเติบโตที่งดงามจนธุรกิจให้บริการลูกค้ารายย่อยครองส่วนแบ่งรายได้เกือบ 50% ของรายได้รวมบริษัท และคาดว่าจะเติบโตขึ้นมากกว่านี้ในอนาคต
ขอขึ้นสู่บริษัทพันล้านเหรียญ
“ผมตั้งเป้าที่จะให้บริษัทมีรายได้กว่า 3 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า” คือคำยืนยันที่พงษ์ชัยกล่าวเมื่อถามถึงอนาคตข้างหน้าของ FORTH
ทั้งนี้คาดว่ารายได้ของปี 2561 จะมีตัวเลขที่ดีขึ้นกว่าในปี 2560 เนื่องจากบริษัทจะรับรู้รายได้จากงานราชการเพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา ขณะที่จัดการเรื่องยกเลิกธุรกิจในเวียดนามและฟิลิปปินส์ซึ่งไปได้ไม่ดีเท่าที่ควรเรียบร้อยแล้ว
พงษ์ชัยย้ำว่า FORTH จะยังคงยึดมั่นในธุรกิจ 4 กลุ่มหลักเช่นนี้ต่อไปเพื่อให้เกิดสมดุลของการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน “ถ้ารักษาสมดุลของรายได้จากธุรกิจแต่ละกลุ่มให้ดี เวลามีวิกฤตใดๆ เกิดขึ้นเราก็จะไม่เดือดร้อน”

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร

https://forbesthailand.com/people/fabulous-40s-and-50s/%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C.html