“ฟอร์ท” บุกธุรกิจใหม่ซ่อมเครื่องบินเสริมตู้เติมเงิน-เวนดิ้ง

“ฟอร์ท” ปรับกลยุทธ์หันเน้นปั้นรายได้ระยะยาวทั้งลุยประมูลโครงการต่อเนื่อง เดินหน้าต่อยอดตู้เติมเงิน ผันตัวเป็นแบงก์เอเย่นต์ให้บริการเอทีเอ็มเจาะพื้นที่ห่างไกล หลังตลาดเติมเงินอิ่มตัว ฝั่งธุรกิจเวนดิ้งชูตู้กาแฟรุ่นใหม่หักหอกเจาะชุมชน พร้อมเตรียมเปิดธุรกิจซ่อม-เช็กสภาพเครื่องบิน ปักธงโรงซ่อมดอนเมืองปี 2565

“ฟอร์ท” ปรับกลยุทธ์หันเน้นปั้นรายได้ระยะยาวทั้งลุยประมูลโครงการต่อเนื่อง เดินหน้าต่อยอดตู้เติมเงิน ผันตัวเป็นแบงก์เอเย่นต์ให้บริการเอทีเอ็มเจาะพื้นที่ห่างไกล หลังตลาดเติมเงินอิ่มตัว ฝั่งธุรกิจเวนดิ้งชูตู้กาแฟรุ่นใหม่หักหอกเจาะชุมชน พร้อมเตรียมเปิดธุรกิจซ่อม-เช็กสภาพเครื่องบิน ปักธงโรงซ่อมดอนเมืองปี 2565

นายชัชวิน พิพัฒน์โชติธรรม ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์และทิศทางการดำเนินงานในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน หรือ Opportunity Day ว่า การดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการเลื่อนเซ็นสัญญางานโครงการต่าง ๆ ของธุรกิจโซลูชั่น รวมถึงลูกค้าต่างชาติในธุรกิจผลิต-ค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงส่งผลให้รายได้และกำไรลดลง

โดยครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 3,011 ล้านบาท ลดลง 7.8% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจสมาร์ทเซอร์วิส อาทิ ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ 1,503 ล้านบาท ลดลง 192 ล้านบาท ธุรกิจให้บริการโซลูชั่น 887 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96 ล้านบาท และธุรกิจผลิต-ค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 621 ล้านบาท ลดลง 160 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิยังคงอยู่ที่ 4% โดยในแง่มูลค่าลดลงจาก 151 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 2562 เป็น 120 ล้านบาทในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณบวกในบางเซ็กเมนต์แล้ว เช่น ธุรกิจผลิต-ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ช่วงไตรมาส 3 เริ่มมีออร์เดอร์จากลูกค้าเข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่อาจมีกำไรได้เล็กน้อย และในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทจะโฟกัสการสร้างรายได้ระยะยาวและต่อเนื่องจากทั้ง 3 ธุรกิจ ด้วยการปรับรูปแบบงานโครงการที่จะเข้าประมูล และปรับรูปแบบธุรกิจเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ รวมไปถึงเปิดธุรกิจใหม่ด้านการบิน

โดยตัวอย่างโครงการที่บริษัทจะเน้นในธุรกิจโซลูชั่น อาทิ โครงการกำไลติดตามตัว หรืออีเอ็ม (EM) สำหรับติดตามผู้ต้องหา-ผู้ต้องโทษ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก ก่อนหน้านี้กระทรวงยุติธรรมมีแผนพักโทษนักโทษประมาณ 1 แสนคน ซึ่งอาจจะทำให้ดีมานด์อุปกรณ์นี้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 70,000-120,000 แสนเครื่อง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้เซ็นสัญญากับกรมคุมประพฤติ เป็นผู้ให้เช่าใช้กำไลอีเอ็มเฟสแรกจำนวน 30,000 เครื่อง นาน 3 ปี และคาดว่าจะมีโอกาสในการทำสัญญาเพิ่มในเฟสต่อ ๆ ไป เนื่องจากบริษัทมีความได้เปรียบจากการเป็นผู้ออกแบบ และพัฒนาเองทุกชิ้นส่วน รวมถึงผลิตและประกอบในประเทศ

เช่นเดียวกับโครงการสมาร์ทกริดของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งเป็นการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบใหม่ ที่สามารถส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้ากลับมายัง กฟน.ได้ โดยบริษัทรับหน้าที่จัดหามิเตอร์ ซอฟต์แวร์ และติดตั้ง ในเฟสแรกนำร่อง 30,000 ตัวในกรุงเทพมหานคร (กทม.) นอกจากนี้ กฟน.ยังมีแผนจะขยายต่อเนื่องให้ครอบคลุม 4 ล้านตัว ทั่ว กทม. นอกจากนี้ยังมีแผนเข้าประมูลโครงการต่าง ๆ อีกหลายโครงการในปีนี้ รวม 43 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นายชัชวินกล่าวว่า สำหรับธุรกิจตู้บุญเติมจะโฟกัสการเป็นแบงก์เอเย่นต์ ตามเทรนด์การโอนเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สวนทางกับการเติมเงินมือถือซึ่งใกล้ถึงจุดอิ่มตัวมีโอกาสเติบโตเพียงปีละ 1-2% เท่านั้น ปัจจุบันบริษัทเริ่มทดลองผลิตตู้เอทีเอ็มสำหรับรายย่อย รองรับการถอนเงินที่มีมูลค่าไม่มากนัก เช่น ครั้งละ 2 พันบาท มุ่งเจาะทำเลชุมชนในพื้นที่ห่างไกลที่ตู้เอทีเอ็มทั่วไปยังเข้าไม่ถึง ทั้งนี้ ตัวเครื่องส่วนบนจะเหมือนตู้บุญเติม แต่ส่วนล่างเป็นเครื่องจ่ายธนบัตร

ด้านเวนดิ้งแมชีนขายเครื่องดื่มที่ปัจจุบันบริษัทมีอยู่ 4,000 กว่าเครื่อง จากนี้จะใช้ตู้กาแฟจะเป็นเรือธงแทนตู้ขายเครื่องดื่มบรรจุขวด เพื่อรองรับดีมานด์เครื่องดื่มกาแฟที่มีมากขึ้น และปัจจุบันบริษัทได้พัฒนาตู้รุ่นใหม่ที่สามารถขายเครื่องดื่มได้ถึง 50 เมนู จากเดิม 20 เมนู ทั้งร้อน-เย็น เช่น กาแฟ มะนาวโซดา น้ำขิง โอเลี้ยง ชานม นมเย็น เป็นต้น พร้อมฟังก์ชั่นรับชำระเงินทั้งเงินสด และคิวอาร์โค้ด รวมถึงสามารถให้บริการเติมเงินแบบเดียวกับตู้บุญเติมได้ด้วย

“สำหรับธุรกิจตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้ได้พักการทำตลาดไว้ก่อน เพราะยังต้องรอปริมาณการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งขณะนี้มีเพียงประมาณ 3,000 คันทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ได้เสริมจุดแข็งด้านการรับชำระเงินด้วยการสร้างบริการอีวอลเลตของบริษัทเองไว้รองรับ และเชื่อว่าในธุรกิจนี้ นอกจากต้นทุนตู้ที่เป็นปัจจัยของการแข่งขันแล้ว ความง่าย-รวดเร็วในการชำระค่าบริการ ก็จะเป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน เพราะการชาร์จไฟต่อครั้งจะมีกำไรต่ำ ผู้ให้บริการจึงต้องเน้นความถี่การงานให้มากที่สุด” นายชัชวินกล่าวและว่า

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดไลน์ธุรกิจใหม่ด้านบริการซ่อม-เช็กสภาพเครื่องบิน เนื่องจากปัจจุบันเครื่องบินโดยสารจะต้องตรวจเช็กสภาพทุก 1 2 และ 4 ปี ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนการตรวจเช็กระยะ 2 และ 4 ปี มีผู้ให้บริการที่สิงคโปร์เพียงรายเดียว โดยการนำเครื่องจากไทยไปเช็กสภาพมีค่าใช้จ่ายสูงมากกว่า 3 แสนบาทต่อครั้ง ส่วนโรงซ่อมมาตรฐานสำหรับเครื่องบินขนาดกลางมีเพียงของการบินไทยรายเดียว จึงเป็นโอกาสที่จะเข้าสู่ธุรกิจนี้ โดยมีแผนเปิดโรงซ่อมเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง

ปัจจุบันได้จัดตั้งบริษัทใหม่ “ฟอร์ท เอ็มอาร์โอ” (FORTH MRO) ถือหุ้นร่วมกับท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (AOT) ในสัดส่วน 75% ต่อ 25% และได้สิทธิบริหารพื้นที่คลัง 3 ของสนามบินดอนเมืองขนาด 13 ไร่ นาน 15 ปี เพื่อสร้างโรงซ่อม โดยจะเริ่มก่อสร้างช่วงปลายปี 2563 นี้ คาดว่าจะใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี ก่อนจะพร้อมเปิดบริการในปี 2565 ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะคลี่คลายแล้ว

“จากการปรับกลยุทธ์ด้วยการหันมาเน้นการสร้างรายได้ระยะยาวดังกล่าว รวมถึงการให้ความสำคัญกับการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงน่าจะช่วยให้บริษัทมีรายได้ต่อเนื่องและยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต” นายชัชวินกล่าว